ปฏิทิน

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง


ผักพื้นบ้านยับยั้งสารก่อมะเร็ง


      น้ำพริกนั้นถือเป็นอาหารประจำชาติไทยเลยก็ว่าได้ เรามีน้ำพริกหลายชนิดแตกต่างกันไปตามภูมิภาคให้เลือกกินกันได้ไม่เบื่อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะขาม น้ำพริกนรก ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือต้องมีผักแนม เป็นผักสดๆ หรือผักต้มผักนึ่งเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น
      สำหรับผักแนมต่างๆนั้นก็เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมคุณค่าของอาหารให้มากขึ้น โดยนักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้ในเรื่อง 
"น้ำพริกและผักแนม...คุณค่าอาหารพื้นบ้าน" ว่าผักพื้นบ้านชนิดใดบ้างที่ช่วยยับยั้งสารก่อกลายพันธุ์ หรือสารก่อมะเร็งได้


     สำหรับผักพื้นบ้านที่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็งสูงมาก ได้ยแก่ กระโดนบก ข่า จิกน้ำ ถั่วมะแฮะ ผักส้มป่อง มะดัน มะเม่า มันแกวเขียว เล็นเค็ด ส้มป่อย
     ผักพื้นบ้านที่ช่วยยับยั้งการสารก่อมะเร็งสูง
 ได้แก่ กระสัง ดอกดิน ตีนเต่า แตงโมน้อย เทา เทียน แกลบ นางแลว บัวเผื่อน บวบหอม ผักตุ๊ด ผักวิมาน ผักสัง พญายอ ฟักทอง มะขาม มะเดื่ออุทุมพร มะรุม มะแว้ง ส้มซ่า ส้มลม โสมไทย หูปลาช่อน
     และผักพื้นบ้านที่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็งได้ปานกลาง ได้แก่ กล้วยน้ำว้า ขจร ถั่วผักยาวแดง ถั่วลาย บุก บอนดำ ผักโขมม่วง ผักหวานป่า มะเดื่อปล้อง มันต้าง รากคิว ลิงลาว ผักสาบ หวายขม อัญชัน


      
ผักพื้นบ้านเหล่านี้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคเป็นอย่างดี เพราะใช้ประกอบอาหารอยู่บ่อยๆ แต่สำหรับคนกรุงแล้วก็ถือว่าหาได้ค่อนข้างยาก แต่หากอยากกินผักที่ให้ประโยชน์อย่างนี้ ก็คุ้มค่าที่จะลองหามากินกัน

อ้างอิง   http://www.oknation.net/blog/diamond/2009/08/07/entry-1

ภัยมืดจากมะเร็ง


           ความสัมพันธ์ระหว่างสารก่อกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็ง ตลอดจนถึงสารส่งเสริมการ เกิด มะเร็ง สารก่อมะเร็ง คือ สารเคมีที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยน เป็นเซลล์มะเร็ง โดย มี การ เปลี่ยนแปลงของโมเลกุลดีเอ็นเอ ของโครโมโซม มีการแบ่งตัวของเซลล์มากขึ้น ไม่มีการหยุดยั้ง ขาดการควบคุมในการแบ่งตัว จนเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เพิ่มจำนวนตัวเองอย่างมากมาย ในสภาวะที่เหมาะสม กลุ่มเซลล์มะเร็งที่มีลักษณะทางกายภาพและทางชีวเคมีผิดปกตินั้นอาจกลายเป็นกลุ่มเซลล์มะเร็งชนิดร้ายแรง ขบวนการเกิดมะเร็ง เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แบบทีละขั้นทีละตอน ตัวอย่างสารก่อมะเร็ง มีมากมาย พบในอาหาร ยารักษาโรค สารปราบศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ในบ้าน สำนักงาน และสิ่งแวดล้อม
ในอาหาร
  • สารอะฟลาทอกซิน จากเชื้อรา สีเขียวหรือเหลือง เป็นสารพิษ สารก่อกลายพันธุ์ และสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมาก ทนต่อความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส พบมากในผลิตผลทางเกษตร เช่น ถั่วลิสง(โดยเฉพาะถั่วลิสงป่น) ข้าวโพด พริกแห้ง ข้าว มันสำปะหลัง น้ำมันดิบจากถั่วลิสง
  • สารอะโครเลอีนในผลหมาก
  • สารโพลีซัยคลิกไฮโดรคาร์บอน (PAH, Polycyclic aromatic hydrocarbon) เป็นสารที่พบในควัน เขม่าไฟและควันบุหรี่ ซึ่งเกิดจากการเผาไม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ เช่นไขมันในเนื้อสัตว์ ถ่านไม้ ฉะนั้นจึงพบสาร PAH นี้ในส่วนผิวหนัง และส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง รมควันและทอดกรอบ
  • สารไพโรลัยเสท เป็นสารอินทรีย์พวกแอมมีนที่อยู่ในเนื้อที่ไหมเกรียม การเผาไหม้ เกิดจากกรดอะมิโนที่เปลี่ยนโครงสร้างไปจากเดิม
  • สีผสมอาหาร เป็นสารประเภท Azodye, Xanthine และ Aromatic amine ซึ่งบางตัวมีฤทธิ์กลายพันธุ์และก่อมะเร็งได้ กระทรวงสาธารณสุขได้ห้ามใช้ผสมอาหาร เช่น Amaranth, Cyclamate , Sarlet, Malachite green และ Buttter yellow เป็นต้น - ฟอร์มัลดีไฮด์ ในปลา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เกิดจากการชุบการฉาบโดยพ่อค้าแม่ค้า
  • สารไนโตรซามีน มักพับในปลาหมึก ปลา (โดยเฉพาะปลาทะเล) ปิ้ง-ย่าง เกิดจากการรวมตัวของสารเอมีนที่อยู่ในปลา กับ N2O3(เกิดจากการรวมตัวของ N2 กับ O2 ที่อุณหภูมิสูง) หรือกับเกลือไนไตร์ท ในภาวะที่เป็นกรดขึ้นในกระเพาะอาหารของมนุษย์ ฉะนั้นการรับประทานอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนไตร์ท หรือเกลือไนเตรท(หรือดินประสิวสามารถถูกเปลี่ยนเป็นเกลือไนไตร์ทได้โดยอาศัยแบคทีเรียในปาก) เช่น แหนม ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน ปลาร้า อาหารกระป๋องบางชนิดบ่อยๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษไนโตรซามีน
ในยาและเวชภัณฑ์
  • ยาที่ใช้ในเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เอดส์(AZT)
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งเสริมการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก
  • รังสีเอ็กซ์ แกมมา อิเลคตรอน ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ยาแก้ปวดลดไข้ ที่สำคัญคือ Phenacetin ซึ่งผสมอยู่ในยาเม็ด APC ทำให้เกิดมะเร็งของกรวยไตในคนที่ใช้ยานี้เป็นประจำและนานๆ
เครื่องสำอาง
  • อะนีลิน อินทรีย์ซึ่งเป็นสารสีดำ ใช้ในยาย้อมผม
  • สี D&C Orange#17 และ D&C RED#36 ในลิปสติก พบว่ามีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อแบคทีเรีย - สารก่อมะเร็งในแป้ง ที่พบบ่อยได้แก่ ใยหิน หรือ Asbestos ปะปนใน Talcum powder ที่ใช้ผลิตแป้งแข็ง ทาหน้า แป้งฝุ่น และสเปรย์ระงับกลิ่นตัว ซึ่งใยหินถ้าคนหายใจเข้าไป ทำให้เป็นมะเร็งปอด ระบบทางเดินอาหาร เยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้องด้วย ในผู้ที่ได้รับใยหินและสูบบุหรี่ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดก็มากขึ้นด้วย
  • สี Amaranth ในในแป้งทาหน้า
ในสิ่งแวดล้อม
  • เหล็กออกไซด์ ในผงสีดำ ที่ใช้ทำหมึกพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร
  • สารประกอบที่มี โครเมียม, นิเกิล, ตะกั่ว
  • สาร เบนโซ (เอ) พัยรีน ในเขม่า ควัน จากการเผาขยะ จากท่อไอเสีย
  • ไวนิลคลอไรด์ โมโนเมอร์ในโรงงานทำพลาสติกพีวีซี
  • ดีดีที, คลอโรฟิลนอกซิล เฮอบิไซด์, คลอโรฟอร์ม รังสีอัลตราไวโอเลท
สารก่อมะเร็งยังสามารถแบ่งตามฤทธิ์ในการเกิดมะเร็งเป็น 2 กลุ่ม คือ
  1. สารก่อมะเร็งที่สมบูรณ์ หมายถึงสารก่อมะเร็งที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งด้วยตัวมันเองได้ เช่น อะฟลาทอกซิน เป็นต้น
  2. สารก่อมะเร็งที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งต้องการ "สารส่งเสริมการเกิดมะเร็ง หรือทูเมอร์โปรโมเตอร์" เพื่อการเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ ทำให้กลุ่มเซลล์ที่เปลี่ยนสภาพไปกลายไปเป็นกลุ่มเซลล์มะเร็งได้เร็วขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสารก่อกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็ง
สารก่อกลายพันธุ์อาจจะเป็นหรือไม่อาจจะไม่เป็นสารก่อมะเร็งก็ได้ สารก่อมะเร็งหลายชนิดมีคุณ สมบัติเป็นสารก่อกลายพันธุ์ด้วย แต่สารก่อมะเร็งบางชนิดก็ไม่เป็นสารก่อกลายพันธุ์ การเกิดมะเร็งมักเกิดในเซลล์เนื้อเยื่อที่เป็นเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการซ่อมแซมดีเอ็นเอ และการกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่ยีนชุดไหน ในเซลล์มะเร็งมีชุดของยีนที่กลายพันธุ์ไป เช่น ยีนมะเร็ง (Oncogene) และยีนยับยั้งมะเร็ง (Tumor suppressor gene)


อ้างอิง   http://drug.pharmacy.psu.ac.th/phrabath/cancer2.html

ขิงสารพัดประโยชน์



ขิง
ส่วนที่ใช้

เหง้า หน่ออ่อน เนื้ออ่อนในลำต้น ช่อดอกอ่อน
สรรพคุณ
ขิงยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอ ฯ ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก

นำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ขิงที่นำมาประกอบอาหารมีหลายรูปแบบคือ ขิงสด ขิงดอง ขิงแห้ง ขิงผง รวมทั้งน้ำขิงที่เป็นเครื่องดื่ม ขิงเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหาร เพิ่มรสชาติ และดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เช่น ใช้โรยหน้าปลานึ่ง โรยหน้าโจ๊กหรือผสมในน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ต้มส้มปลา แกงฮังเล ยำกุ้งแห้ง ขิงยำ เป็นเครื่องเคียงของเมี่ยงคำ หรือทำเป็นขนมหวาน เช่น บัวลอยไข่หวาน มันเทศต้ม เป็นต้น นอกจากนี้ขิงดองยังเป็นอาจาดในอาหารอีกหลายชนิด เช่น ข้าวหน้าเป็ด หรืออาหารญี่ปุ่น รวมทั้งยังเป็นส่วนผสมในการแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด เช่น คุกกี้ พาย เค้ก พุดดิ้ง ผงกะหรี่ เป็นต้น ในประเทศแถบตะวันตกนำขิงไปทำเป็นเบียร์ คือ เบียร์ขิง (Ginger beer)

Tips
1. รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยนำขิงแก่สด ประมาณ 2-3 เหง้า มาทุบพอแตกต้มกับน้ำ
2. รักษาไข้หวัด โดยนำขิงแก่สด 7 กรัม และขิงแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มเพื่อรักษาอาการ หรือใช้ขิงแก่ 2-3 เหง้า นำมาทุบให้ละเอียดต้มกับน้ำอาบเพื่อขับเหงื่อลดอาการไข้เนื่องจากหวัด
3. รักษาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำขิงสดมาคั้นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้งประมาณ 1 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้ขิงสดฝนกับมะนาวเติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
4. รักษาอาการปวดประจำเดือน ในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน โดยนำขิงแก่แห้งประมาณ 30 กรัม ต้มกับน้ำดื่มบ่อยๆ
5. แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง โดยใช้ขิงแห้งบดชงกับน้ำอุ่น ดื่มวันละ 1 ครั้ง
6. รักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวก โดยตำขิงสดให้ละเอียด นำกากมาพอกที่แผลเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ เป็นหนอง
7. รักษาอาการปวดฟัน โดยนำขิงแก่ทุบให้ละเอียด คั่วกับน้ำสารส้มจนเกรียม แล้วบดจนเป็นผง พอกบริเวณฟันที่ปวด

ข้อสังเกต / ข้อควรระวัง
1. ขิงแก่มีสรรพคุณในทางยาและมีรสเผ็ดร้อนมากกว่าขิงอ่อน
2. ขิงแก่มีเส้นใยมากกว่าขิงอ่อน
3. ในเหง้าขิงมีเอนไซม์บางชนิดที่สามารถย่อยเนื้อสัตว์ให้เปื่อยได้
4. สารจำพวกฟีนอลิค (Phenolic compound) ในขิงสามารถใช้กันบูดกันหืนในน้ำมันได้

             อ้างอิง   http://www.chuankin.com/properties_text.php?property_id=22&property_type=2

มะขามป้อมสารพัดประโยชน์

 มะขามป้อม เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณมากมายมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด นำสรรพคุณของมะขามป้อมไปใช้ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทาน และผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงามประเภทเครื่องสำอางสำหรับสาวๆ ที่รักความสวยงาม


           ในอินเดียเชื่อว่าการรับประทานมะขาม ป้อมเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิว และบำรุงผม ส่วนคนไทยนอกจากจะใช้มะขามป้อมเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะแล้ว ยังใช้บำรุงผิวช่วยให้ผิวหน้าขาวแก้ฝ้า โดยการนำมะขามป้อมมาฝนกับฝาละมีแล้วเอาน้ำที่ได้มาทาฝ้า ใช้บำรุงผมโดยทอดมะขามป้อมกับน้ำมันมะพร้าว แล้วเอาน้ำมันมาหมักผมช่วยให้ผมนุ่มลื่น จัดทรงง่าย ป้องกันผมหงอก

           จากการวิจัยในปัจจุบันพบว่า มะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านไข้หวัดทั้งในหลอดทดลองและมนุษย์ ในผลของมะขามป้องมีสารโปรไซยานินที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับวิตามินซี แต่ทนความร้อนไม่ถูกออกซิไดซ์ง่าย จึงมีความคงตัวสูงซึ่งเป็นข้อดีกว่าวิตามินซีทั่วไป มะขามป้อมมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดมะเร็ง โดยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น

           ในสหรัฐอเมริกามีการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้มะขามป้อม เป็นส่วนประกอบใช้สำหรับป้องกันและรักษาภาวะของโรคเอดส์ ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ตับแข็งและภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ซึ่งในผลิตภัณฑ์นี้ประกอบไปด้วย Phyllanthus nururi, บอระเพ็ด มะขามป้อม สมอพิเภกและสมอไทย นอกจากนั้น มะขามป้อมยังมีฤทธิ์ในการลดคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

           สรรพคุณมะขามป้อมตามตำรับยาไทยสามารถแก้หวัด ผลมะขามป้อมมีสรรพคุณแก้หวัด แก้ไอได้ดี เป็นที่รู้กันในทุกประเทศที่มีมะขามป้อม จนปัจจุบันมีสิทธิบัตรที่จดในประเทศสหรัฐอเมริกาของตำรับยาที่มีส่วนผสมของ มะขามป้อมอยู่ ระบุสรรพคุณในการแก้หวัด แก้ไข้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากวิตามินซีหรือสารในกลุ่มแทนนิน อาการเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปากคอแห้ง ให้ใช้ผลสด 15-30 ผล คั้นเอาน้ำมาจากผล หรือต้มทั้งผลแล้วดื่ม แทนน้ำเป็นครั้งคราว

           ตามตำราไทยเชื่อว่าของที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิดช่วยละลายเสมหะและหมอยา พื้นบ้านเชื่อว่ารสเปรี้ยวที่ละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดีที่สุดคือมะขามป้อม ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าในมะขามป้อมมีสารที่ละลายน้ำได้มีฤทธิ์ละลายเสมหะ และที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการพัฒนายาแก้ไอมะขามป้อมขึ้นทะเบียนยาเป็นยาแผนโบราณเป็นที่นิยมของทั้ง ผู้ใช้ยาและแพทย์ โดยตำรับยาทำได้ง่ายๆ เพียงแต่นำมะขามป้อมแห้งมาต้มแล้วแต่งรส มะขามป้อมที่จะนำมากินแก้ไอ เจ็บคอ ควรเลือกลูกที่แก่จัดผิวออกเหลือง

           เมื่อมีอาการเป็นหวัด ไอ ให้นำมะขามป้อมสดมาเคี้ยวอมกับเกลือทุกครั้งที่มีการไอถ้าไม่ไอแต่ยังมีไข้ อยู่ก็ควรอมมะขามป้อมเพื่อให้ชุ่มคอและขับเสมหะ เป็นการป้องกันการไอได้ด้วยการละลายเสมหะ แก้การกระหายน้ำ ใช้ผลแก่จัดมีรสขม อมเปรี้ยว อมฝาด เมื่อกินแล้วจะรู้สึกชุ่มคอ ใช้สำหรับช่วยละลายเสมหะ กระตุ้นให้เกิดน้ำลาย จึงช่วยแก้การกระหายน้ำได้ดี หรือใช้ผลแห้งประมาณ 6-10 กรัม ถ้าใช้ผลสดประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หรือคั้นเอาน้ำสำหรับดื่ม ขับเสมหะ หรือช่วยระบายของเสียให้ใช้ผลสด 5-15 ผล ต้มหรือคั้นน้ำมาดื่ม


           มะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม เช่นเดียวกับสมอไทย จึงสามารถแก้โรคต่างๆ ได้มากเช่นเดียวกันสมอไทย ตำรายาอินเดียยกย่องมะขามป้อมไว้มากว่า เป็นผลไม้บำรุงร่างกายที่ดีมาก ตำราบางเล่มถึงกับกล่าวว่า ถ้าคนอินเดียไม่มองข้ามมะขามป้อม คือเอามะขามป้อมมากินเป็นประจำวันละ 1 ลูก ทุกวัน เขาเชื่อว่าคนอินเดียจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงกว่านี้มากนัก ทั้งนี้เพราะมะขามป้อมบำรุงอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย คือ บำรุงผม สมอง ดวงตา คอ หลอดลม ปอด หัวใจ กระเพาะ ฯลฯ แก้น้ำเหลืองเสีย ปรับประจำเดือนให้มาปกติ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ช่วยลดความดันเลือดสูง
           ปัจจุบันมีการศึกษาพบประโยชน์มากมายของมะขามป้อมในการลดความดัน ลดน้ำตาลและลดไขมันในเลือด การกินมะขามป้อมช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ทางอายุรเวท พบว่าการดื่มน้ำมะขามป้อมคั้นสด 1 ช้อนโต๊ะ (15 ซีซี) กับน้ำมะระขี้นกคั้นสด 1 ถ้วย ทุกวันเป็นเวลาสองเดือนสามารถกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ การกินยาตำรับนี้ต้องมีการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และยาตำรับนี้ยังลดอาการแทรกซ้อนทางตาจากโรคเบาหวาน


           มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทดลองให้คนกินยาเม็ดวิตามินซีกับกินมะขามป้อมเปรียบเทียบกันพบว่า วิตามินซีจากมะขามป้อมถูกดูดซึมเร็วกว่าวิตามินซีเม็ด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในมะขามป้อมมีสารอื่นๆ ที่ช่วยพาวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว มะขามป้อมที่ผ่านการต้ม หรือตากแห้งทำให้วิตามินซีลดลง แต่ก็ยังเพียงพอที่จะใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ ถ้าเก็บไว้ไม่เกิน 1 ปี

           ส่วนคนที่ท้องผูกเป็นประจำไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถ้าได้กินมะขามป้อมแล้วอาการท้องผูกจะหายไป เนื่องจากมะขามป้อมมีรสฝาด จะทำให้กินยากไปสักหน่อย ควรปรุงรสให้อร่อยด้วยการนำมะขามป้อมมาผ่าแคะเม็ดออก (กินแต่เนื้อ) ประมาณ 10 ลูก ใส่พริก เกลือ น้ำตาลตำพอแหลก กินต่างผลไม้ แต่ควรกินก่อนนอนหรือตอนตื่นใหม่ๆ ในขณะที่ท้องว่า วิธีลดความฝาดของมะขามป้อม ก็คือแช่น้ำเกลือ มีขั้นตอนดังนี้ ล้างมะขามป้อมให้สะอาด ลวกด้วยน้ำร้อน และนำไปแช่ในน้ำเกลือที่เค็มจัดแช่ไว้สัก 2 วัน รสฝาดก็จะลดลง ยิ่งแช่นานรสฝาดก็ยิ่งหมดไป




อ้างอิง    http://www.vcharkarn.com/varticle/41194

เรื่องของกล้วยที่ไม่ใช่กล้วยๆ


กล้วยน้ำว้า..สาระพัดประโยชน์

กล้วยน้ำว้า
      แปลกใจบ้างไหมว่า ทำไมผู้ใหญ่ถึงชอบให้เด็ก ทานกล้วยน้ำว้าบด ก็เพราะว่าใน กล้วยน้ำว้า มีโปรตีน และมี กรดอะมิโน อาร์จินิน และ ฮีสติดิน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก แถมยังมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย นั้นเป็นคุณค่าทางโภชนาการ คราวนี้เรามาดูกันว่า สรรพคุณทางยาของกล้วยน้ำว้า มีอะไรกันบ้าง

  1. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการเจ็บหน้าอกจากการไอแห้ง ทานวันละ 5-6 ผล จะช่วยให้อาการระคายเคืองลดน้อยลงได้
  2. ช่วยเรื่องกลิ่นปาก ทำให้ลดกลิ่นปากได้ดี วิธีรับประทานคือทานกล้วยน้ำว้าหลังตื่นนอนทันที แล้วค่อยแปรงฟัน จะช่วยลดกลิ่นปากได้
  3. ช่วยเป็นยาระบายแก้ท้องผูก หรือระบบขับถ่ายไม่ปกติ วิธีรับประทานคือ ทานกล้วยน้ำว้าสุก 1-2 ผล ก่อนนอน และดื่มน้ำตามมากๆ จะช่วยให้ถ่ายท้องได้ดีในวันรุ่งขึ้น
  4. ช่วยแก้ท้องเดิน หรือ ท้องเสียได้ ในกล้วยน้ำว้าจะมีสารเทนนิน ซึ่งสามารถช่วยรักษาอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงได้ โดยการน้ำ กล้วยน้ำว้าดิบ หรือ กล้วยน้ำว้าห่าม มาปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นบางๆ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มนานครึ่งชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1/2- 1 ถ้วยแก้ว ให้ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุกๆ 1-2 ชม. ใน 4-5 ชม.แรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุกๆ 3-4 ชม. หรือ วันละ 3-4 ครั้ง (ถ้ายุ่งยาก ก็หายามาทานก็ได้ค่ะ)
  5. ช่วยรักษาโรคกระเพาะได้ นำกล้วยน้ำว้าดิบมาปอกเปลือก แล้วนำเนื้อมาฝานเป็นแผ่นบางๆ แตกแดด 2 วัน ให้แห้งกรอบ บดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำข้าว หรือน้ำผึ้ง ทานก่อนอาหาร ครึ่งชม. หรือก่อนนอนทุกวัน
  6. เปลือกกล้วยน้ำว้า ช่วยบรรเทาอาการคันอันเนื่องมาจากแมลงกัดต่อย และผื่นแดงจากอาการคันได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการ ต้านเชื้อรา และ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนอง
      รู้สรรพคุณของกล้วยน้ำว้าอย่างนี้แล้ว รีบไปซื้อติดบ้าน ไว้รับประทานบ้าง ก็คงจะดีไม่น้อย ...
ขอขอบคุญข้อมูลจาก นิตยาสาร Truth Today

การนวดแผนไทย


นวดไทย : ต้องหมอนวดไทย
     การนวดไทยเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทยที่มีประวัติและเรื่องราวสืบทอดกันมาช้านาน มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยที่ดูแลและช่วยเหลือกันเองภายในครอบครัว เช่น สามีนวดให้ภรรยา ภรรยานวดให้สามี ลูกหลานนวดให้พ่อแม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย

     การนวดไทย หมายถึง การตรวจ การวินิจฉัยและการบำบัดโรคด้วยการกด คลึง บีบ ทุบ สับ ประคบ หรือวิธีการนวดอื่นใดตามแบบแผนของการประกอบโรคศิลปะ
     การนวดหรือหัตถเวช เป็นการรักษาโรคที่พัฒนามาจากการช่วยเหลือตัวเองในครอบครัวแบ่งเป็น 2 แบบ
1. การนวดแบบราชสำนัก เป็นการนวดเพื่อถวายกษัตริย์ เจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก ผู้นวดต้องเดินเข่าเข้าหาผู้ป่วยที่นอนบนพื้น เมื่ออยู่ห่างราว 2 ศอก จึงนั่งพับเพียบและคารวะขออภัยผู้ป่วย จากนั้นจะคลำชีพจรข้อมูลและหลังเท้าข้างเดียวกันเพื่อตรวจดูอาการของโรค ตำแหน่งการวางมือ องศาแขนของผู้นวดที่ทำกับผู้ป่วยและท่าทางต้องกระทำอย่างสุภาพ เน้นที่มือและนิ้ว ดังนั้นมือต้องแข็งแรง

2. การนวดแบบทั่วไปหรือการนวดพื้นบ้าน (เชลยศักดิ์) ที่รู้จักกันว่าจับเส้น เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวกใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยในการนวด เช่น ศอก เข่า เป็นต้น ซึ่งตรงกับหมอแผนปัจจุบันคือการนวด เพื่อเพิ่มหรือส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง

     การนวดไม่ใช่เพื่อรักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีคุณค่าต่อสุขภาพ เป็นกระบวนการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีศิลปะ มีหลักการ ระหว่างผู้ให้บริการ (หมอนวด) และผู้รับบริการ การนวดจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ

     การนวดไทย จึงเป็นเสน่ห์ไทย ที่ได้รับการยอมรับจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน กระแสสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและบำบัดอาการด้วยวิธีการทางธรรมชาติมากขึ้น การนวดไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถผ่อนคลายบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายกลุ่มอาการโรค จึงมีการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการนวดไทยอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการ มุ่งเน้นด้านทักษะสู่ความเป็นเลิศ
ประโยชน์ของการนวด- ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มระบบการไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
- กระตุ้นระบบประสาท
- เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ
- ฟื้นฟูสภาพของระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท
- ทำให้รู้สึกสบายคลายเครียด
ข้อควรระวังในการนวด 
- ไม่ควรนวดหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ทำได้หลัง 30 นาที
- ไม่นวดเมื่อมีอาการฟกช้ำตามผิวหนัง หรือมีอาการอักเสบซ้ำซ้อน
- กรณีผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องระมัดระวัง และบอกประวัติแก่หมอนวด
- เมื่อมีอาการอักเสบติดเชื้อ คือ มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ปวด บวม แดงร้อน ไม่ควรจะนวด
- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ ควรได้รับการช่วยเหลือขั้นต้นและตรวจวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หากเกินความสามารถควรประสานความร่วมมือกับแพทย์แผนปัจจุบัน
ข้อห้ามในการนวด- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
- ไข้พิษ ไข้กาฬ อีสุกอีใส งูสวัด เริม
- โรคผิวหนัง
- โรคติดต่อ เช่น วัณโรค โรคเอดส์
ข้อควรปฏิบัติหลังการนวด1. งดอาหารแสลง เช่น อาหารมัน อาหารทอด หน่อไม้ ข้าวเหนียว เครื่องในสัตว์ เบียร์ ของหมักดอง
2. ห้ามสลัด บีบ ดัด ส่วนที่มีอาการปวด
3.ให้ออกกำลังกายเฉพาะโรคและอาการตามคำแนะนำ