ปฏิทิน

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

การนวดแผนไทย


นวดไทย : ต้องหมอนวดไทย
     การนวดไทยเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทยที่มีประวัติและเรื่องราวสืบทอดกันมาช้านาน มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยที่ดูแลและช่วยเหลือกันเองภายในครอบครัว เช่น สามีนวดให้ภรรยา ภรรยานวดให้สามี ลูกหลานนวดให้พ่อแม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย

     การนวดไทย หมายถึง การตรวจ การวินิจฉัยและการบำบัดโรคด้วยการกด คลึง บีบ ทุบ สับ ประคบ หรือวิธีการนวดอื่นใดตามแบบแผนของการประกอบโรคศิลปะ
     การนวดหรือหัตถเวช เป็นการรักษาโรคที่พัฒนามาจากการช่วยเหลือตัวเองในครอบครัวแบ่งเป็น 2 แบบ
1. การนวดแบบราชสำนัก เป็นการนวดเพื่อถวายกษัตริย์ เจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก ผู้นวดต้องเดินเข่าเข้าหาผู้ป่วยที่นอนบนพื้น เมื่ออยู่ห่างราว 2 ศอก จึงนั่งพับเพียบและคารวะขออภัยผู้ป่วย จากนั้นจะคลำชีพจรข้อมูลและหลังเท้าข้างเดียวกันเพื่อตรวจดูอาการของโรค ตำแหน่งการวางมือ องศาแขนของผู้นวดที่ทำกับผู้ป่วยและท่าทางต้องกระทำอย่างสุภาพ เน้นที่มือและนิ้ว ดังนั้นมือต้องแข็งแรง

2. การนวดแบบทั่วไปหรือการนวดพื้นบ้าน (เชลยศักดิ์) ที่รู้จักกันว่าจับเส้น เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวกใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยในการนวด เช่น ศอก เข่า เป็นต้น ซึ่งตรงกับหมอแผนปัจจุบันคือการนวด เพื่อเพิ่มหรือส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง

     การนวดไม่ใช่เพื่อรักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีคุณค่าต่อสุขภาพ เป็นกระบวนการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีศิลปะ มีหลักการ ระหว่างผู้ให้บริการ (หมอนวด) และผู้รับบริการ การนวดจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ

     การนวดไทย จึงเป็นเสน่ห์ไทย ที่ได้รับการยอมรับจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน กระแสสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและบำบัดอาการด้วยวิธีการทางธรรมชาติมากขึ้น การนวดไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถผ่อนคลายบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายกลุ่มอาการโรค จึงมีการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการนวดไทยอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการ มุ่งเน้นด้านทักษะสู่ความเป็นเลิศ
ประโยชน์ของการนวด- ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มระบบการไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
- กระตุ้นระบบประสาท
- เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ
- ฟื้นฟูสภาพของระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท
- ทำให้รู้สึกสบายคลายเครียด
ข้อควรระวังในการนวด 
- ไม่ควรนวดหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ทำได้หลัง 30 นาที
- ไม่นวดเมื่อมีอาการฟกช้ำตามผิวหนัง หรือมีอาการอักเสบซ้ำซ้อน
- กรณีผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องระมัดระวัง และบอกประวัติแก่หมอนวด
- เมื่อมีอาการอักเสบติดเชื้อ คือ มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ปวด บวม แดงร้อน ไม่ควรจะนวด
- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ ควรได้รับการช่วยเหลือขั้นต้นและตรวจวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หากเกินความสามารถควรประสานความร่วมมือกับแพทย์แผนปัจจุบัน
ข้อห้ามในการนวด- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
- ไข้พิษ ไข้กาฬ อีสุกอีใส งูสวัด เริม
- โรคผิวหนัง
- โรคติดต่อ เช่น วัณโรค โรคเอดส์
ข้อควรปฏิบัติหลังการนวด1. งดอาหารแสลง เช่น อาหารมัน อาหารทอด หน่อไม้ ข้าวเหนียว เครื่องในสัตว์ เบียร์ ของหมักดอง
2. ห้ามสลัด บีบ ดัด ส่วนที่มีอาการปวด
3.ให้ออกกำลังกายเฉพาะโรคและอาการตามคำแนะนำ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น